อย่าคิดเปลี่ยนใคร เปลี่ยนที่ใจเราง่ายกว่า
สวัสดีผู้อ่านทุกๆ ท่าน นี่คือหัวข้อแรกที่เราอยากจะเริ่มปรับปรุงตัวเองนั่นคือการลดความคาดหวังในตัวผู้อื่น และพอลองได้ทำแล้ว ใจเราสบายขึ้นเป็นไหนๆ อยากจะแชร์ประสบการณ์ค่ะ
ส่วนตัวเป็นคนที่เคยทำงานด้านบริการมาก่อน เราอยู่ในองค์กรที่เน้นด้านบริการมากๆ เราได้เข้าอบรมการเป็นผู้ให้บริการที่ดี และนำมาใช้จริงกับลูกค้าทุกท่าน จนได้เป็นพนักงานบริการดีเด่น และได้รับเกียรติจากบริษัทไปให้คำแนะนำกับน้องๆ รุ่นหลัง นี่คือที่มาของความเป็นคนที่เป๊ะด้านบริการของเรา
ฉะนั้นเรายอมรับเลยค่ะว่า เวลาไปรับบริการที่ไหน เราซีเรียสเรื่องนี้มากๆ และคาดหวังเสมอว่าต้องได้รับบริการที่ดี ใครบริการดีประทับใจ เราจะหาทุกวิธีที่จะชมพนักงานคนนั้น เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ เช่นเดียวกัน ใครบริการได้ต่ำกว่ามาตรฐานการบริการ เราพร้อมร้องเรียนทันทีเช่นกัน เราเป็นแบบนี้มาหลายปี ซึ่งถามว่ามีความสุขหรือไม่กับความคาดหวังทุกๆ ครั้งที่เข้าใช้บริการไม่ว่าที่ใดก็ตาม บอกเลยค่ะว่า เราไม่มีความสุข
สามีเราจะคอยปรามเราตลอดว่า ปล่อยผ่านบ้างก็ได้ ใครบริการไม่ดี เราก็ไม่ต้องกลับมาร้านนี้อีกแค่นั้นก็พอ แต่เราก็ไม่ปล่อยผ่าน แถมเก็บเอาความขุ่นเคืองนั้นมาอารมณ์เสียต่อ นอกจากจะอารมณ์เสียตรงนั้นแล้ว หลายครั้งที่เราเอาความหงุดหงิดนั้นมาพาลใส่คนใกล้ตัว เรียกว่าทำบรรยากาศกร่อยไปหมดในสิ่งที่เราเป็น
เราเคยอ่านเจอในบทความของต่างประเทศในหัวข้อ “The Poison of Unhappiness”* แล้วพบว่า จริงๆ แล้วความทุกข์มันไม่ได้ทำให้เราอายุสั้นลงและในทางกลับกันถ้ามีความสุขมันก็ไม่ได้ทำให้เราอายุยืนขึ้น แต่การเกี่ยวข้องหรือเอาตัวเราไปอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ไม่มีความสุขนั้น จะส่งผลให้เราไม่มีความสุขไปด้วย ซึ่งก็เหมือนกับเหตุการณ์ที่เราได้เกริ่นให้ฟังว่าเมื่อเราคาดหวังในตัวคนอื่นมากเกินไป จนทำให้เราเป็นทุกข์ และเมื่อเราเป็นทุกข์เราก็พาลทำให้คนรอบข้างเป็นทุกข์ไปด้วย
นอกจากนั้นยังส่งผลให้เรามีพฤติกรรมเป็นคนคอยจับผิดผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว และเอามาตรฐานที่ตัวเองตั้งไว้ว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้มาใช้ ด้วยความคาดหวังว่าจะต้องเป็นอย่างใจคิด พอไม่ได้อย่างใจ พาลให้คิดลบ ไปหมด อะไรๆก็ไม่ได้เรื่อง อะไรๆก็ไม่ดี
วิธีสังเกตุว่าคุณคาดหวังจากผู้อื่นมากไปหรือไม่
คุณผู้อ่านลองสังเกตตัวเองดูได้นะคะว่า คุณคาดหวังจากผู้อื่นมากเกินไปรึเปล่าโดยการสังเกตจากพฤติกรรม ดังต่อไปนี้
1. คิดว่าคนอื่นต้องเข้าใจความต้องการของเราโดยที่ไม่ต้องพูดหรือบอกออกไป
2. คิดว่าคนอื่นต้องปฏิบัติตัวเหมือนเรา
3. คิดว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงคนอื่นได้ โดยการว่ากล่าวตักเตือน
4. ตั้งความหวังไว้สูง
5. สามารถจับผิดผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย
ถ้าคุณมีพฤติกรรมเพียงหนึ่งในห้าข้อที่กล่าวมา คุณอาจจะต้องลองปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมดูใหม่ เพื่อให้ชีวิตคุณมีความสุขมากขึ้น
ที่เราเล่ามายาวขนาดนี้พอจะนึกออกใช่มั้ยคะว่าเรา พาตัวเองไปจมกองทุกข์แท้ๆ แต่นั่นคืออดีตค่ะ เราปรับเปลี่ยนตัวเองแล้ว ตั้งแต่เราเลือกให้ตัวเองมีความสุข ไม่ใช่ว่าเราเจอแต่พนักงานบริการดีๆ นะคะ แต่เราไม่เอาใจไปจดจ่อกับเรื่องเสียอารมณ์แล้วต่างหาก เราทำแบบนี้ค่ะ
ขั้นตอนในการฝึกระงับอารมณ์โกรธ
1. สูดหายใจลึกๆ
การสูดหายใจลึกๆ สามารถช่วยได้จริงๆ นะคะ เวลาทำจะช่วยดึงสติที่กำลังจะกระเจิงได้เลยค่ะ
2. นับเลข
การนับเลขในใจต่อจากสูดลมหายใจ เราจะเริ่มนับ 1.2.3. ไปเรื่อยๆ จนสติเข้าสู่ภาวะปกติ
3. ปล่อยผ่าน
การปล่อยผ่านนั้นทำให้เราเปลี่ยนความคิดที่อยากจะตำหนิคนๆหนึ่งที่บริการไม่เข้าท่า เป็น คิดว่า เราจะไปอารมณ์เสียเพื่ออะไร เราได้อะไร จากเรื่องนี้นอกจากความโมโห เสียเวลาความสุขเราเปล่าๆ พอเราคิดแบบนี้ ใจเราปล่อยความทุกข์ได้เลยค่ะ
พอเราเริ่มฝึก มันเริ่มดีกับตัวเองขึ้น เราเริ่มไม่เก็บมาเป็นอารมณ์ บรรยากาศที่เคยคุกรุ่น กลับกลายเป็น คนรอบข้างที่มาด้วย ไม่ต้องมาหัวเสียไปกับเรา ยิ่งฝึกยิ่งทำบ่อยๆ ตอนนี้เรามีความสุขขึ้นเยอะเลยค่ะ
สิ่งที่เราพยายามปรับตัวเอง ทำให้เรามองผู้อื่นด้วยความเข้าใจและไม่ตัดสินอย่างที่เคยเป็น และปล่อยผ่านกับเรื่องหยุมหยิมๆ ได้เยอะมากๆๆ เรียกง่ายๆ ว่า ไม่เอาใจไปจมกองทุกข์นั่นเองค่ะ
แล้วกลับมาพบกับเราได้ใหม่ในบทความหน้า หวังว่าทุกคนจะได้นำเคล็ดลับดีๆ รวมทั้งประสบการณ์ของเราไปปรับใช้กับตัวเองและคนรอบข้างนะคะ ถ้ามีความคิดเห็น หรืออยากแบ่งปันประสบการณ์ของคุณ สามารถพิมพ์ไว้ในคอมเม้นต์ด้านล่างบทความนี้ได้เลยค่ะ
อย่าลืมนะคะว่า เราเปลี่ยนผู้อื่นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนที่ตัวเราเองได้ แค่เลือกที่จะไม่เก็บความทุกข์ไว้กับตัว เราเองก็เพิ่มเวลาความสุขแล้วค่ะ
ด้วยรัก…. ม้าน้ำ
แหล่งข้อมูล
* Wallace, L. (2011, April 8). The Poison of Unhappiness. The Atlantic. https://www.theatlantic.com/health/archive/2011/04/the-poison-of-unhappiness/236967/